บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก
ผู้แต่ง :
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้นามแฝงว่าพระขรรค์เพชร
พระองค์ทรงผูกเรื่องและทรงเรียบเรียงเอง
รูปแบบ :
เรื่องเห็นแก่ลูกแต่งเป็นบทละครพูด
เป็นเรื่องขนาดสั้น มี 1 องค์
ลักษณะการแต่ง
รัชกาลที่6
ทรงผูกเรื่องอย่างรัดกุมและดำเนินเรื่องโดยใช้บทสนทนาของตัวละครโต้ตอบกัน
ทำให้ทราบเรื่องราวที่ดำเนินไป และทราบเบื้องหลังของตัวละครแต่ละตัว นอกจากนี้
ยังทรงบรรยายกริยาท่าทางของตัวละครแต่ละตัวไว้ในวงเล็บ เพื่อช่วยให้นักแสดง
แสดงตามบทได้สะดวกและสมบทบาทยิ่งขึ้น ภาษาที่ใช้ในบทละครนี้
ใช้คำพูดง่ายๆแต่ให้ความหมายคมคายลึกซึ้ง แม้ว่าบางคำที่มีใช้ในอดีตสมัย
80-90ปีก่อนแต่ไม่มีใช้ในปัจจุบัน ผู้อ่านก็ยังพอเดาความหมายได้
นำเรื่อง
เห็นแก่ลูก
เป็นบทละครพูดพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงใช้พระนามแฝงว่า “พระขรรค์เพชร” เป็นบทละครพูดขนาดสั้นเพียงหนึ่งองก์
สันนิษฐานว่าเป็นบทละครพูดภาษาไทยเรื่องแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เอง
เนื้อเรื่องย่อ
นายล้ำมาที่บ้านพระยาภักดีนฤนาถ
มีอ้ายคำซึ่งเป็นคนรับใช้ของพระยาภักดีให้การต้อนรับ
และนั่งคอยดูอยู่ห่างๆเนื่องจากไม่ไว้ใจเพราะเห็นสภาพของนายล้ำที่แต่งตัวปอนๆ
ท่าทางดื่มเหล้าจัดจนเมื่อพระยาภักดีกลับมาบ้านได้พบนายล้ำจึงทำให้ทราบเรื่องราวของคนทั้งสอง
จากการสนทนาโต้ตอบกันว่า เดิมนายล้ำเป็นเพื่อนกับพระยาภักดี
ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหลวงกำธร ส่วน นายล้ำเป็นทิพเดชะ นายล้ำมีภรรยา คือแม่นวล
มีลูกสาวคือ แม่ลออ เมื่อแม่ลออมีอายุ 2 ขวบ เศษ
นายล้ำก็ถูกจำคุกเพราะทุจริตต่อหน้าที่ แม่นวลเลี้ยงดูลูกสาวมาตามลำพัง
ก่อนตายจึงยก ลูกสาวให้เป็นลูกบุญธรรมของพระยาภักดี นายล้ำจำคุกอยู่ 10 ปี
ก็ออกจากคุกไปร่วมค้าฝิ่นอยู่ กับจีนกิมจีนเง็ก ที่พิษณุโลก
พอถูกตำรวจจับได้ก็แก้ข้อกล่าวหาเอาตัวรอดฝ่ายเดียว ต่อมาก็
ตกอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว จึงตั้งใจจะมาอยู่กับแม่ลออ ซึ่งมีอายุ 17 ปี
กำลังจะแต่งงาน กับนายทองคำ
แต่พระยาภักดีพยายามชี้แจงให้นายล้ำเห็นแก่ลูกสาวไม่ต้องการให้ถูกคนอื่น
รังเกียจว่ามีพ่อเป็นคนขี้คุกและฉ้อโกง จนในที่สุดเสนอเงินให้ 100 ชั่ง
แต่นายล้ำก็ไม่ยอมเมื่อ แม่ลออกลับมาถึง
นายล้ำจึงได้รู้จักกับแม่ลออและได้เห็นประจักษ์ว่าตนเลวเกินกว่าจะเป็นพ่อ
ของแม่ลออ ซึ่งหล่อนได้วาดภาพพ่อไว้ในใจว่า พ่อเป็นคนดีที่หาที่ติไม่ได้เลย
ศิลปะการประพันธ์
๑. ใช้ภาษาโบราณ แต่ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก เช่น “ไม่รับประทาน” (ไม่รับประทาน คือ ไม่เอา)
๒. ใช้คำพูดที่สั้น แต่แฝงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครไว้กระชับ เช่น
พระยาภักดี. ค้าอะไร ?
นายล้ำ.
ฝิ่น.
๓. ใช้บทสนทนาแสดงบรรยากาศ
เหตุการณ์ และอารมณ์ของตัวละคร เช่น
นายล้ำ.
ผมไม่เอาเงินของคุณ.
พระยาภักดี.
ถ้ายังงั้นก็ไปให้พ้นบ้านฉัน, ไป !
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
๑) การใช้บทสนทนาที่เหมาะสมกับสถานภาพของตัวละคร
กวีสามารถสร้างบทสนทนาที่เหมาะสมกับสถานภาพของตัวละครที่กล่าวบทสนทนานั้นตำแหน่งทางสังคม
ยศถาบรรดาศักดิ์ รวมไปถึงอายุของตัวละคร
๒) การใช้บทสนทนาที่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร
บทละครพูดดำเนินเรื่องผ่านบทสนทนาเป็นหลัก
ทำให้การสื่อสารเรื่องราวรวมไปถึงลักษณะของตัวละครต้องสื่อผ่านบทสนทนานั้น
โดยกวีสร้างบทสนทนาที่ช่วยสื่อถึงนิสัยและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้เป็นอย่างดี
๓) การใช้ถ้อยคำที่สื่อความหมายลึกซึ้ง
ในบทละครนี้มีการใช้ถ้อยคำที่สั้นกระชับ แต่กินความมาก
สามารถสื่อความหมายได้ลึกซึ้ง ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ชมเข้าใจเรื่องราวได้ดียิ่งขึ้น
๔) การสื่อความหมายโดยนัย
หมายถึง การสื่อความหมายออกมาโดยไม่แสดงออกมาตรงๆ
แต่สื่อผ่านคำพูดที่สื่อเป็นนัยให้ทราบ
๕) การใช้สำนวน
การใช้สำนวนทำให้บทสนทนาสื่อความหมายได้อย่างกินความกว้างขวางมากขึ้น
และยังช่วยนำเสนอความคิดบางอย่างของตัวละครได้อีกด้วย
คุณค่าด้านสังคมและสะท้อนวิถีไทย
ดังนี้
๑)
ธรรมเนียมการต้อนรับแขก
ทุกครอบครัวในสังคมไทยย่อมได้รับการปลูกฝังจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เสมอว่า
“เป็นธรรมเนียมไทยแต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ”
การต้อนรับแขกด้วยความเต็มใจและเลี้ยงรับรองอย่างดีที่สุดถือเป็นมารยาททางสังคมประการหนึ่ง
และผู้ที่ได้รับการต้อนรับย่อมประทับใจและกล่าวถึงในความมีน้ำใจของเจ้าบ้าน
๒) การกำหนดค่าและรูปแบบของเงิน
ในระบบเศรษฐกิจไทยจะใช้ระบบแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน
ต่อมาเมื่อสังคมมีโครงสร้างที่ซับซ้อน มีระบบเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้น
ระบบเงินตราจึงเข้ามาเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน
๓)
ค่านิยมการนับถือบุคคลที่เพียบพร้อมทั้งรูปสมบัติและทรัพย์สมบัติ
ได้สะท้อนให้เห็นค่านิยมของคนไทยที่นับถือบุคคลจากรูปลักษณ์ภายนอกโดยมิได้มองถึงคุณธรรมความดีของบุคคลผู้นั้น
บุคคลใดมีความประพฤติด่างพร้อย ทำให้เสียชื่อเสียงเกียรติยศ
ไม่ว่าจะเคยเป็นคนดีหรือเป็นคนเลวมาก่อนก็ตาม
เมื่อชีวิตมีมลทินก็ทำให้เป็นที่รังเกียจของสังคม
๔) แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมของมนุษย์
มนุษย์ทุกคนย่อมเห็นแก่ตัวเป็นธรรมดา
แม้กระทั่งนายล้ำเองยังต้องต่อสู้กับความรู้สึกเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ลูกของตนเองและในที่สุดอำนาจฝ่ายสูงก็ชนะ
นายล้ำยอมจากไปผจญกับความยากลำบากเพราะเห็นแก่ลูกมากกว่า จึงเป็นเรื่องที่น่ายกย่องที่เขาเคยทำผิดแต่ก็สำนึกตัวได้
ข้อคิด คติคำสอน
และความจรรโลงใจ
๑. การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ดังจะเห็นได้จากผลทุจริตของนายล้ำที่ต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลา ๑๐ ปี
๒. ความรักระหว่างพ่อลูกเป็นความรักบริสุทธิ์ไม่หวังผล
ดังที่นายล้ำล้มเลิกความเห็นแก่ตัวของตนเอง เมื่อได้รับรู้ว่าแม่ลออมีความภาคภูมิใจในตัวบิดาผู้ให้กำเนิดอย่างไร
๓. ความรักบริสุทธิ์สามารถเผื่อแผ่ไปถึงบุคคลอื่นได้
ตัวอย่างเช่นความรักของพระยาภักดีนฤนาถที่มีต่อแม่ลออ ทั้ง ๆ
ที่ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขของตนเอง
การนำไปใช้ในชีวิตจริง
๑. การหลงในอบายและการทำกรรมชั่วทั้งปวงล้วนนำมาซึ่งปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคม
๒.
การรู้ผิดชอบชั่วดีในการกระทำของตนจะช่วยให้ครอบครัวปกติสุขไร้ซึ่งปัญหา
สรุป
บทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก
เป็นผลงานพระราชนิพนธ์ที่แสดงถึงความรักอันบริสุทธิ์ระหว่างพ่อและลูกทำให้รู้ว่าไม่มีความรักใดบริสุทธิ์เท่าความรักตามธรรมชาติที่พ่อมอบให้แก่ลูก