วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การโต้วาที

 การโต้วาที
     การโต้วาที เป็นการอภิปรายอย่างหนึ่ง โดยผู้อภิปรายใช้วาทศิลป์ของตน โน้มน้าวใจผู้ฟังคล้อยตามและใช้เหตุผลหักล้างเอาชนะฝ่ายตรงข้าม

องค์ประกอบของการโค้วาที
   ๑.ญัตติในการโต้วาที
   ๒.ผู้โต้วาที
   ๓.ประธานการโต้วาที หรือ ผู้ดำเนินการโต้วาที
   ๔.กรรมการ
   ๕.ผู้ฟัง
   ๖.ระเบียบวิธีการโต้วาทีี

๑.ญัตติในการโต้วาที ญัตติ คือ หัวข้อที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการโต้วาทีญัตติควรเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม อยู่ในความสนใจของผู้ฟังที่ทั้งสองฝ่าย สามารถหาเหตุผลมาโต้แย้งกันหรือหักล้างกันได้เป็นเรื่องที่แสดงถึงสติปัญญาและปฏิภาณไหวพริบ นอกจากนี้ญัตติควรมีความกะทัดรัดชัดเจน ไม่ควรตั้งเป็นคำถาม
ตัวอย่างญัตติที่น่าสนใจ
     ๑.วัฒนธรรมไทยศิวิไลซ์กว่าวัฒนธรรมตะวันตก
     ๒.เรียนเมืองไทยดีกว่าไปเรียนเมืองนอก
     ๓.ใช้เงินสดดีกว่าใช้เงินเครดิต
     ๔.เกษตรกรรมดีกว่าอุตสาหกรรม
     ๕.เรียนมหาวิทยาลัยเปิดดีกว่ามหาวิทยาลัยปิด

๒.ผู้โต้วาทีคือผู้ที่ทำการโต้วาที แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย  คือ ฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน ซึงมีหัวหน้า ๑ คน และโดยทั่วไป ผู้สนับสนุนอีกฝ่ายละ ๓ คน ดังนี้
                   ฝ่ายเสนอ                                                            ฝ่ายค้าน
         ๑)   หัวหน้าฝ่ายเสนอ                                            ๑)  หัวหน้าฝ่ายค้าน
         ๒)   ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ ๑                            ๒)  ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ ๑
         ๓)   ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ ๒                            ๓)  ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ ๒ 
         ๔)   ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ ๓                            ๔)  ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ ๓


ลักษณะของผู้โต้วาทีที่ดี
   ๑.มีความรอบรู้และมีประสบการณ์มาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความรู้ในญัตติดี 
   ๒.ผู้โต้วาทีจึงต้องค้นคว้าหาความรู้และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นที่จะโต้วาทีให้พร้อม
   ๓.มีเหตุผลและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
   ๔.มีวาทศิลป์และไหวพริบในการพูดโน้มน้าวใจผู้ฟังให้คล้อยตาม
   ๕.มีมารยาทในการพูด ไม่พูดเสียดสี ยกยอ หรือเอาเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นขึ้นมาพูด
   ๖.มีความรับผิดชอบในศีลธรรมและวัฒนธรรม ระมัดระวังการใช้ภาษาที่เหมาะสมสุภาพ
   ๗.คำนึงประโยชน์ของผู้ฟังไม่ควรพูดเล่นมากเกินไป ต้องให้สารประโยชน์แก่ผู้ฟังด้วย


แนวปฏิบัติของผู้โต้วาทีแต่ละฝ่าย  มีขั้นตอนดังนี้
หัวหน้าฝ่ายเสนอ
   - กล่าวทักทายผู้ฟัง
   - เสนอญัตติ
   - แปรญัตติหรือให้ความหมาย
   - ให้เหตุผลสนับสนุนญัตติดังกล่าว
   - อธิบายรายละเอียดข้อปลีกย่อย
   - ยกตัวอย่าง  อุทาหรณ์ คำกล่าว ฯลฯ  ประกอบการสนับสนุน
   - เน้นสรุปประเด็นสำคัญ
ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอ
   - กล่าวทักทายผู้ฟัง
   - อธิบายสนับสนุนหัวหน้าฝ่ายเสนอ
   - อธิบายข้อเสนอด้วยการหาเหตุผลเพิ่มเติม
   - แย้งคู่โต้เป็นประเด็นๆ
   - เน้นสรุปประเด็นสำคัญ
หัวหน้าฝ่ายค้าน
   - กล่าวทักทายผู้ฟัง
   - พยายามชี้ให้เห็นข้อบกพร่องในการแปรญัตติและการให้เหตุผลของฝ่ายเสนอ
   - โต้แย้งประเด็น โดยยกเหตุผลประกอบ
   - ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงเพื่อหักล้างให้เห็นว่า ไม่เป็นไปตามญัตติ
   - เสนอแนะสิ่งที่ดีของฝ่ายตน
   - เน้นสรุปประเด็นสำคัญ             
ผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน
   - กล่าวทักทายผู้ฟัง
   - หาเหตุผลข้อเท็จจริงสนับสนุนหัวหน้าฝ่ายค้าน
   - พูดโต้แย้งข้อเสนอของผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอ
   - นำสถิติ คำคม ข้อเท็จจริงมายืนยัน
   - เน้นสรุปประเด็นสำคัญ


 
๓. ประธานการโต้วาที หรือ ผู้ดำเนินการโตวาที มีหน้าที่เป็นพิธีกรและดำเนินการโต้วาทีให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่กำหนด
คุณสมบัติของประธานการโต้วาที หรือผู้ดำเนินการโต้วาที  มีดังนี้
   ๑.มีวาทศิลป์และปฏิภาณไหวพริบดี
   ๒.ความรอบรู้เข้าใจญัตติและรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้โต้
   ๓.มองโลกในแง่ดี มีจิตวิทยา รู้จักสร้างบรรยากาศ ด้วยอารมณ์ขัน
   ๔.มีความรู้และเข้าใจระเบียบแบบแผนการโต้วาที
   ๕.วางตัวเป็นกลางไม่แสดงความลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด

หน้าที่ของประธานการโต้วาที หรือผู้ดำเนินการโต้วาที
   1. กล่าวเปิดการโต้วาที แจ้งญัตติที่จะโต้วาทีให้ผู้ฟังได้ทราบ
   2. กล่าวแนะนำผู้โต้วาทีทั้งสองฝ่าย  โดยเริ่มจากหัวหน้าฝ่ายเสนอผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอทุกคน แล้วจึงแนะนำหัวหน้าฝ่ายค้าน
โดยสนับสนุนฝ่ายค้านทุกคน   โดยกล่าวแนะนำ ให้ผู้ฟังได้ทราบว่าผู้โต้ว่าทีทั้งสองฝ่ายเป็นใครมีความสามารถเกี่ยวกับการพูดในญัตตินั้น ๆ อย่างไรและแนะนำกรรมการผู้ตัดสินด้วย
   3. ชี้แจงเกี่ยวกับญัตติการโต้วาที   ในลักษณะเกริ่นให้ทราบ และกำหนดเวลาในการพูด ของการ โต้  วาทีแต่ละคน
   4. เชิญให้ผู้โต้วาทีทั้งสองฝ่ายขึ้นมาพูดเรียงลำดับดังนี้   หัวหน้าฝ่ายเสนอหัวหน้าฝ่ายค้าน 
ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่  ๑    ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่  ๑   ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่  ๒ 
ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่  ๒  สลับกันไปจนครบทุกคน    แล้วจึงเชิญหัวหน้าของทั้งสองฝ่าย
ขึ้นมากล่าวอีกครั้งหนึ่ง   ในการกล่าวสรุปนี้   หัวหน้าฝ่ายค้านจะเป็นผู้สรุปก่อนหัวหน้าฝ่ายเสนอ
   5. เมื่อหัวหน้าทั้งสองฝ่ายกล่าวสรุปแล้วประธานเป็นผู้ประกาศผลของการโต้วาทีโดยฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ  และแจ้งให้ผู้โต้วาทีและผู้ฟังทราบ   แล้วกล่าวขอบคุณผู้ร่วมโต้วาทีทุกคน

๔.  กรรมการ    การโต้วาทีเป็นการพูดเพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน  จึงต้องมีกรรมการทำหน้าที่ตัดสินกรรมการควรเป็นบุคคลที่มีความรู้เรื่องวาทศิลป์และเป็นผู้มีความรู้ในญัตติและกระบวนการโต้วาที เป็นอย่างดี นอกจากนี้กรรมการจะต้องไม่มีอคติต่อผู้โต้วาทีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง   ส่วนมากในการโต้วาทีแต่ละครั้งจะใช้กรรมการ  ๓  หรือ  ๕  คน

๕.   ผู้ฟัง  คือผู้ที่เข้าร่วมฟังการโต้วาที ซึ่งมีหลักปฏิบัติ ดังนี้
     ๑.  มีมารยาทในการฟัง เช่น ปรบมือให้เกียรติ หัวเราะอย่างสุภาพ ไม่พูดคุย หรือ แสดงกิริยาไม่เหมาะสม ฯลฯ
     ๒.  ฟังด้วยความสนใจและติดตาม 
     ๓.  สังเกตการณ์พูด การใช้ภาษา ท่าทางของผู้โต้ เพื่อนำไปใช้กับการพูดของตนเอง

๖.  ระเบียบและวิธีการโต้วาที    ได้แก่   กระบวน    การกำหนดเวลา     การจัดสถานที่   และ       การตัดสินใจ


กระบวนการการโต้วาที  มีดังนี้
     - ประธานหรือผู้ดำเนินการโต้วาทีกล่าวอรัมภบท  แนะนำผู้โต้วาที  และเชิญผู้โต้แต่ละคนออกมาพูด
     - หัวหน้าฝ่ายเสนอขึ้นมาพูดก่อน และหัวหน้าฝ่ายค้านพูดเป็นคนที่สอง โดยใช้เวลาเท่าๆกัน
     - ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอ และฝ่ายค้านขึ้นมาพูดสลับกัน ฝ่ายละคนตามลำดับจนครบ
     - หัวหน้าฝ่ายค้านกล่าวสรุปก่อน แล้วหัวหน้าฝ่ายเสนอสรุปเป็นคนสุดท้ายผู้ดำเนินการกล่าวอีกครั้ง แจ้งผลการตัดสินและกล่าวปิดการโต้วาที
 
วาทศิลป์   คือ   ศิลปะในการใช้วาทะ พูดจาให้ผู้ฟังเข้าใจอย่างมีอรรถรส ได้ทั้งข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นคำคม มีแง่มุมชวนหัวชวนฮา  มีศิลปะในการใช้ภาษาที่ชักจูงให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตาม เห็นดีเห็นงามไปกับข้อคิดเห็น ข้อมูลต่างๆ ที่เสนอไป

มารยาท  คือ  การกระทำที่ไม่ทำให้ผู้ใดรู้สึกอึดอัดใจ รังเกียจ เกลียดชัง  หรือพูดจาก้าวร้าว  ล่วงเกินต่อกัน การโต้วาทีในเรื่องของมารยาทมีข้อห้าม ไว้ดังนี้
     1. อย่าอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์  หรือลัทธิความเชื่อบางอย่าง
     2. อย่าใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ไม่สุภาพ
     3. อย่านำเอาเรื่องส่วนตัว ของฝ่ายตรงข้ามมาพูด เว้นแต่เรื่องที่ดี
     4. อย่าแสดงอาการที่ไม่พอใจฝ่ายตรงข้าม  ต้องมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส แสดงความเป็นมิตรต่อฝ่ายตรงข้ามและผู้ฝังเสมอ
     5. อย่าออกชื่อจริงของผู้โต้วาที ควรบอกชื่อตำแหน่งขณะโต้วาทีเท่านั้น เช่น หัวหน้าฝ่ายเสนอ หัวหน้าฝ่ายค้านผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่ ๑ ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่ ๒
     6. อย่าพูดเกินเวลาที่กำหนดให้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประโยคที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

ประโยคที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น             ประโยคที่ซับซ้อน คือ การนำรูปประโยค ทั้งประโยคความเดียว ประโยคความรวมและประโยคความซ้อนมาขยายควา...